ปราสาทพระวิหาร ศรีศิขเรศรขององค์ศิวะเทพ

             ปราสาทพระวิหาร  (Temple of Preah Vihear)  โบราณสถานอายุ 1,000 ปี 

ภาพจาก : http://deworde.blogspot.com/2014/01/rihla-journey-41-angkor-cambodia.html
               ปราสาทพระวิหาร สร้างขึ้นในหลายรัชสมัยของกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรขอมเริ่มก่อสร้างตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่  2  ซึ่งปกครองอาณาจักรในช่วงปี  พ.ศ.1345 - 1388 และนักประวัติศาสตร์มีความเห็นว่า  ปราสาทพระวิหารสร้างเสร็จสมบูรณ์ในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่  2 (ครองราชย์  พศ.1656-1693)  สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่เทพเจ้าคือพระศิวะ ของศาสนาฮินดู

             ปราสาทมีความโดดเด่นที่ทำเลที่ตั้งปราสาท ซึ่งอยู่บนชะง่อนผาหิน ซึ่งเรียกว่าผาเป้ยตาดี มองลงมาเห็นทิวทัศน์ของประเทศกัมพูชา ลักษณะเด่นของสถาปัตยกรรมคือ เป็นกลุ่มปราสาทที่มีระเบียงคดเชื่อมระหว่างปราสาทแต่ละหลังเริ่มตั้งแต่ทางลาดต่ำเชิงเขาเป็นทิวขึ้นไปจุดถึงสุดผาชัน ปราสาทพระวิหารมีความเป็นเอกในเชิงสถาปัตยกรรมขอมและการตกแต่งปราสาทด้วยประติมากรรมศิลปะขอมโบราณ


ภาพจาก : http://www.fisheries.go.th/sf-sisaket/web2/index.php?option

             ตัวปราสาทมีความยาวในแนวแนวเหนือใต้ 800 เมตร มีความโดดเด่นในการออกแบบ การวางผังปราสาท ประติมากรรมที่นำมาประดับตกแต่งด้วยหินแกะสลักภาพแกะสลักนูนต่ำ กับทั้งการสร้างปราสาทให้มีความสอดคล้องกลมกลืนกับธรรมชาติแวดล้อม ทำให้ภูมิทัศน์ของปราสาทพระวิหารที่อยู่หน้าผาสูงมีความสง่างามย่างยิ่ง ความสำคัญของปราสาทพระวิหาร เชื่อกันว่าสร้างขึ้นเพื่อถวายพระศิวะที่ทรงประทับบนยอดเขาไกรลาส ซึ่งเป็นยอดเขาสูงสุดของเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางจักรวาล  ทำให้ปราสาทแห่งนี้เปรียบเหมือนการค่อย ๆ ก้าวไปสู่ที่ประทับของพระศิวะ หากมองจากข้างล่างหน้าผาจะเห็นตัวปราสามเหมือนวิมาณสวรรค์ลอยอยู่บนฟากฟ้า โดยมีแผ่นดินเขมรต่ำ ประหนึ่งมหาสมุทรรองรับอยู่เบื้องล่าง


ภาพจาก : http://whc.unesco.org/en/documents/123642

         ต่อมาเมื่อปี 2450 จักรวรรดินิยมฝรั่งเศส (ปกครองเขมรขณะนั้น) อาศัยแสนยานุภาพทางทหารบีบให้รัฐบาลสยาม  ยอมเขียนแผนที่กำหนดให้เขาพระวิหารอยู่ในดินแดนของกัมพูชา ในการทำสนธิสัญญาเพิ่มเติม รัฐบาลสยามก็ยอมรับแผนที่ที่ฝรั่งเศษสร้างขึ้นมาแต่โดยดีโดยมิได้ทักท้วง (ซึ่งแต่เดิมถ้าแบ่งตามสันปันน้ำเทือกเขาพนมดงรัก เขาพระวิหารจะอยู่ในฝั่งไทยแต่พอแบ่งตามแผนที่ใหม่ของปี 1907จะอยู่ในฝั่งกัมพูชา) อาจจะเป็นเพราะฝรั่งเศสเป็นมหาอำนาจอยู่ในขณะนั้น และคนไทยก็ยังสามารถเข้าไปยังปราสาทเขาพระวิหารได้โดยง่าย 

          ทั้งๆ ที่ไม่ว่าจะตามสนธิสัญญาเดิม พ.ศ.2447 หรือตามสภาพภูมิศาสตร์ กำหนดให้อยู่ในดินแดนของไทยอย่างชัดเจน จนวันที่ 6 ตุลาคม 2502 รัฐบาลเจ้านโรดมสีหนุแห่งกัมพูชา ภายใต้การหนุนหลังของฝรั่งเศส ได้ยื่นฟ้องต่อศาลโลก ขอให้ไทยถอนกองกำลังทหารออกจากเขาพระวิหาร และขอให้ศาลชี้ขาดว่าอธิปไตยเหนือปราสาทเขาพระวิหารคืน (ยื่นฟ้องทั้งหมด 73 ครั้ง) ต่อมาเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505 ศาลโลกได้ตัดสินให้อธิปไตยเหนือปราสาทเขาพระวิหารเป็นของประเทศกัมพูชา ด้วยคะแนน 9 ต่อ 3 เสียง โดยบริเวณดังกล่าวมีเนื้อที่ประมาณ 150 ไร่ อย่างไรก็ดี ปราสาทเขาพระวิหารนับได้ว่าเป็นปราสาทขอมที่สำคัญแห่งหนึ่ง ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์การก่อสร้างเทวสถานของฮินดู และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญทั้งของไทยและกัมพูชาอีกด้วย




อ้างอิง
สุทธินีย์ พรหมมาลี. “ปราสาทพระวิหาร” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา
http://suttineemoticha.blogspot.com/2012/07/blog-post.htm

UNESCO World Heritage Centre. “Temple of Preah Vihear” [online].  Available http://whc.unesco.org/en/list/1224.








Comments