บุโรพุทโธ มรดกโลกอินโดนีเซีย
ภาพจาก : en.wikipedia.org/wiki/Borobudur |
บุโรพุทโธ ศาสนสถานของศาสนาพุทธที่ใหญ่ที่สุดในโลก !
โรพุทโธ (Borobudur-โบโรบูดูร์ หรือ บรมพุทโธ) หนึ่งในสัญลักษณ์ของประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1991 ตามประวัติสันนิษฐานว่าบุโรพุทโธน่าจะสร้างขึ้นระหว่าง ค.ศ. 778 ถึง ค.ศ. 850 โดยกษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทร์
คำว่า “Borobudur” มาจากการผสมกันระหว่างคำว่า “Boro” และ “Budur” คำว่า “Boro” หมายถึงวัดหรือศาลเจ้า ที่มาจากคำว่า Byara ในภาษาสันสกฤต ส่วน “Budur” มาจากคำว่า Beduhur ในภาษาบาหลี ที่หมายถึงภูเขา “บุโรพุทโธ” จึงมีความหมายโดยรวมว่า วัดที่สร้างบนภูเขา ประติมากรรมแต่ละชิ้นได้รับการจัดวางอย่างงดงามลงตัวและมีความหมายอันมีนัยถึงธรรม ธรรมชาติ หรือจักรวาล
ภาพจาก http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9580000061627 |
บุโรพุทโธ เป็นพุทธสถานแบบฮินดูชวา ผสมผสานกับศิลปะแบบอินเดียและอินโดนีเซียเข้าด้วยกัน โดยสร้างจากหินภูเขาไฟ เป็นรูปทรงขั้นบันไดแบบพีระมิดบนฐานสี่เหลี่ยม องค์เจดีย์มีลักษณะเป็นรูปทรงดอกบัว ซึ่งสื่อถึงสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา ตามหลักฐานในประวัติศาสตร์ สถานที่แห่งนี้และบริเวณโดยรอบเป็นที่ลุ่มและถูกล้อมรอบด้วยน้ำที่ท่วมมาจากแม่น้ำโปรโก ทำให้บุโรพุทโธเปรียบเสมือนดอกบัวลอยอยู่ในน้ำ
ภาพจาก en.wikipedia.org/wiki/Borobudur |
ลักษณะการก่อนสร้างของบุโรพุทโธ มีความหมายในทางธรรม ดังนี้
ส่วนฐานของบุโรพุทโธ ประกอบด้วยขั้นบันไดใหญ่ 4 ขั้น กำแพงรอบฐานมีภาพสลักที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ที่ยังข้องอยู่ในความสุข ความปรารถนา ส่วนนี้จึงเปรียบเสมือนยู่ในขั้นกามภูมิ
ส่วนที่สอง ผนังระเบียงสลักภาพเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติและชาดกต่างๆ เปรียบเสมือนขั้นตอนที่มนุษย์เริ่มหลุดพ้นจากกิเลศทางโลกได้บางส่วน ถือเป็นขั้นรูปภูมิ
ส่วนที่สาม คือส่วนของฐานกลมที่มีเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ จำนวน 72 องค์ แต่ละองค์บรรจุด้วยพระพุทธรูปอยู่ภายใน ตั้งเรียงรายโอบล้อมพระเจดีย์องค์ใหญ่อยู่ 3 ระดับ จำนวนเจดีย์ 72 องค์นั้น ในทางธรรมแล้วหมายถึง รูป 18 เจตสิก 52 จิต 1 นิพพาน 1 และฐานพระเจดีย์ที่เป็นรูปบัวผลิบานบ่งบอกถึงการรู้ตื่นและเบิกบาน ส่วนพระเจดีย์องค์ใหญ่ที่ภายในไม่ได้บรรจุสิ่งใดไว้ สื่อให้เห็นถึงความว่าง อันถึงที่สุดของนิพพาน ส่วนนี้เปรียบเสมือนขั้นตอนที่มนุษย์ไม่ผูกพันกับทางโลกอีกต่อไป ถือเป็นขั้นอรูปภูมิ
ภาพจาก en.wikipedia.org/wiki/Borobudur |
บุโรพุทโธ คงความยิ่งใหญ่เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจผู้คนจนถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 18 ใกล้สิ้นยุคของศรีวิชัย ซึ่งชาวโปรตุเกสได้เริ่มเข้ามายึดครองหมู่เกาะต่างๆ และอิทธิพลของศาสนาอิสลามได้เข้ามาแทนที่ บุโรพุทโธจึงได้ถูกลืมเลือนและถูกทิ้งร้างเป็นเวลาหลายร้อยปี จนกระทั่งในพุทธศตวรรษที่ 24 เซอร์โทมัส แสตนฟอร์ด ราฟเฟิล ชาวดัทซ์ ได้ค้นพบบุโรพุทโธในสภาพที่เต็มไปด้วยซากปรักหักพัง มีการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งแรกในระหว่าง พ.ศ.2448-2453 ต่อมาในระหว่างปี พ.ศ 2513-2533 รัฐบาลอินโดนีเซียได้มีการปฏิสังขรณ์ใหญ่อีกครั้งโดยมีองค์การยูเนสโกของสหประชาชาติ ได้ให้ทุนสนับสนุน รวมทั้งเงินทุนอุดหนุนจากบางประเทศที่นับถือพุทธศาสนา รวมทั้งประเทศไทยด้วย
อ้างอิง
ศูนย์ข้อมูลมรดกโลก. กระทรวงวัฒนธรรม . “แหล่งมรดกโลก” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://www.thaiwhic.go.th/heritage.aspx
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. มูลนิธิวิกิมีเดีย. “บรมพุทโธ” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://th.wikipedia.org/wiki/บรมพุทโธ
Comments
Post a Comment